วันศุกร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2556

โรคซิฟิลิส



        เป็นโรคติดต่อที่มีความรุนแรงมากและอันตรายสูงโรคหนึ่ง  โรคซิฟิลิสเป็นได้ทุกแห่งของร่างกาย ไม่เฉพาะแต่ที่อวัยวะสืบพันธุ์เท่านั้น แม้แต่ตามลิ้น มือ แขน ขา รวมทั้งระบบประสาท หัวใจ เส้นเลือด ตา กระดูก ฯลฯ ในบางรายอาจไม่รู้สึกว่ามีอาการอย่างใดตั้งแต่แรก   และกว่าจะรู้ว่ามีอาการ โรคนั้นได้กำเริบมากแล้วก็ได้

          เชื้อต้นเหตุ  โรคซิฟิลิสเกิดจากบัคเตรีที่มีขนาดใหญ่ มีรูปร่างคล้ายกับเกลียวสว่าน  ชอบเคลื่อนไหวไปมา  สามารถไชเนื้อส่วนที่อ่อนๆได้ โดยเฉพาะจะเข้าสู่ร่างกายตรงที่เป็นแผลถลอก แม้แต่เป็นแผลถลอกเพียงเล็กน้อย เชื้อนี้มีชื่อว่า ทรีโพนีมา พัลลิดุม (treponema pallidum)

          ระยะฟักตัว ประมาณ ๑๐-๒๐ วัน หรืออาจนานถึง ๓ เดือน

          ลักษณะอาการ   ในขั้นแรกตรงบริเวณที่ได้รับเชื้อ ซึ่งอาจจะเป็นที่อวัยวะสืบพันธุ์  หรือที่อื่นๆ เช่น ในปาก จะมีตุ่มเล็กๆ ขนาดเท่าหัวเข็มหมุดหรือโตกว่า นั้นเล็กน้อย  ซึ่งต่อไปจะแตกกลายเป็นแผลกว้างออกขอบแผลเรียบและแข็ง  ในระยะนี้เรียกว่า "ซิฟิลิสระยะ   ที่ ๑" แผลจะไม่มีอาการคันหรือเจ็บแต่อย่างใด แม้ปล่อย ทิ้งไว้โดยไม่รักษา แผลก็จะหายเองได้ แต่เชื้อซิฟิลิสนั้นยังคงอยู่ในร่างกาย ตั้งแต่เมื่อเริ่มเป็นแผล เชื้อจะเข้าไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบ แล้วต่อไปจะเข้าสู่กระแสเลือดและกระจายไปตามอวัยวะต่างๆ ของร่างกายในบางรายจะปรากฏอาการผื่นขึ้นตามตัวที่เรียกกันว่า "ออกดอก" ซึ่งเป็น "ระยะที่ ๒ ของซิฟิลิส" ผื่นนี้มีลักษณะต่างกับผื่นลมพิษหรือการแพ้สารต่างๆ  ก็คือ  ไม่มีอาการคัน และผื่นจะปรากฏที่ฝ่ามือด้วย แต่บางครั้งอาจจะไม่มีผื่นเลยก็ได้ แต่จะเกิดอาการอย่างอื่น เช่น เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามข้อ ผมร่วง ฯลฯ 
          เมื่อโรคเข้าสู่ระยะที่     การตรวจเลือดจะพบการเปลี่ยนแปลงที่แสดงปฏิกิริยาให้ผลบวกของน้ำเหลืองอย่างสูงมาก ถ้ายังปล่อยปละละเลยทิ้งไว้  ไม่ไปพบแพทย์รับการตรวจรักษาอย่างถูกต้อง  โรคจะสงบอยู่ระยะหนึ่ง  ระยะนี้เชื้อโรคจะหลบอยู่ตามอวัยวะต่างๆ แต่ก็ยังไม่ปรากฏอาการ จะทราบผลได้จากการตรวจเลือดเท่านั้น อาจกินเวลาหลายปีโรคจึงจะเข้า สู่ "ระยะที่ ๓" อันเป็นระยะสุดท้ายของโรค บางครั้งเรียกว่า "ซิฟิลิสระยะหลัง" ในระยะนี้ผู้ป่วยก็อาจจะต้องทุกข์ทรมานด้วยอาการของหลายระบบของร่างกาย เป็นต้นว่าบนผิวหนังจะมีก้อนนูน แตกเป็นแผลเหวอะหวะ ซึ่งจะกลายเป็นแผลเป็นทำให้เสียโฉม จมูกโหว่  กระดูกผุ อาจตาบอด หูหนวก สติปัญญาเสื่อม สมองพิการจนถึงเป็นอัมพาต หรืออาจถึงกับเป็นบ้าก็ได้ยิ่งกว่านั้นอาจจะเป็นอันตรายถึงชีวิต  ถ้าเกิดไปเป็นที่หัวใจ ทำให้ลิ้นหัวใจรั่ว  หัวใจวาย เส้นเลือดใหญ่ที่ออกจากหัวใจโป่งพอง และตายในที่สุด นอกจากนี้ในสตรีที่ตั้งครรภ์  ถ้าเป็นซิฟิลิส  เชื้อซิฟิลิสจะถ่ายทอด ผ่านทางรก ทำให้ทารกป่วยด้วยโรคนี้ถึงตายในครรภ์ หรือถ้าคลอดออกมาแล้วอาจจะพิการตลอดชีวิตก็ได้ เรียกว่า ซิฟิลิสแต่กำเนิด


          การติดต่อ   โรคนี้สามารถติดต่อได้โดยทางใดทางหนึ่ง คือ
          ๑. โดยการร่วมประเวณีกับผู้ที่กำลังเป็นซิฟิลิสระยะแพร่เชื้อ คือ ระยะที่ ๑  สำหรับระยะที่ ๒ ถ้าถูกต้องกับน้ำเหลืองที่ผื่นผิวหนัง (ออกดอก) ก็จะติดโรคได้เช่นกัน
          ๒. เป็นมาแต่กำเนิด  นั่นคือ เมื่อหญิงที่กำลังตั้งครรภ์เป็นซิฟิลิส ก็สามารถแพร่เชื้อมาให้ทารกในครรภ์โดยผ่านทางรก
          ๓. โดยเหตุบังเอิญ เช่น สัมผัสกับแผลซิฟิลิส

          การป้องกันและควบคุมโรค โรคนี้เกิดขึ้นจากการสำส่อนทางเพศ ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนที่จะใช้ป้องกันโรค  วิธีป้องกันที่ให้ผลก็คือ  ละเว้นพฤติกรรมสำส่อนทางเพศ   นอกจากนี้จะต้องมีระบบติดตามนำผู้ป่วยทั้งที่เป็นหญิงโสเภณีและหญิงบริการรูปอื่นๆ หรือแม้แต่สามัญชน ซึ่งผู้ป่วยเป็นโรคนำมารักษาให้หายขาดในกลุ่มชนที่มีความสำส่อนทางเพศ  ควรจะต้องให้มีการป้องกันโดยใช้ถุงยางอนามัยเป็นเครื่องป้องกัน