วันศุกร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2556

มะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือ ลูคีเมีย



       เลือดขาว หรือที่มักเรียกกันว่า ลิวคีเมีย แบ่งออกเป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ คือชนิดเฉียบพลัน และชนิดเรื้อรัง แต่ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน ซึ่งเป็นชนิดที่พบมากที่สุด มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน เป็นโรคมะเร็งทางโลหิตวิทยา ที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดในไขกระดูก ทำให้มีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนของเซลล์ตัวอ่อนของเม็ดโลหิตขาวเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่เซลล์เหล่านั้นไม่สามารถเจริญเป็นตัวแก่ได้ตามปกติ เซลล์ตัวอ่อนของเม็ดโลหิตขาวในไขกระดูกจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เซลล์มะเร็งเหล่านี้ จะแทนที่และยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์ซึ่งสร้างเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาวและเกร็ดเลือด จนเกิดอาการ และอาการแสดงในผู้ป่วยในระยะเวลาอันสั้น เช่น มีอาการซีด อ่อนเพลีย มีเลือดออกผิดปกติ หรือจุดเลือดออก เนื่องจากเกร็ดเลือดต่ำ ติดเชื้อง่ายมีไข้สูง นอกจากนี้ยังอาจเกิดอาการผิดปกติจากการที่เซลล์มะเร็งแทรกตัวเข้าไปในเนื้อเยื่ออื่นๆ อีกด้วย เช่นต่อมน้ำเหลือง ตับ ม้าม ผิวหนัง หรือเยื่อหุ้มสมอง เป็นต้น มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน เป็นโรคที่มีพยาธิกำเนิดในระดับเซลล์หลายรูปแบบทำให้แบ่งเป็นชนิดย่อยได้หลายชนิด แต่ละชนิดมีการดำเนินโรคและพยากรณ์โรคที่แตกต่างกัน ส่งผลให้การพิจารณาเลือกการรักษาต้องคำนึงถึงชนิดย่อยของโรคด้วย การแยกชนิดย่อยทำได้หลายระบบทั้งการจัดแบ่งตามลักษณะรูปร่างของเซลล์ จัดแบ่งกลุ่มตามความผิดปกติของโครโมโซม และความผิดปกติระดับยีน

มะเร็งเม็ดเลือดขาว ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นชนิดใหญ่ ๆ 2 ชนิด คือ ชนิดเฉียบพลัน และชนิดเรื้อรัง


มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันแบบไมอีลอยด์ (AML)
          มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน เกิดจากการที่เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดในไขกระดูก ไม่สามารถเจริญเติบโต (differentiate) ไปเป็นเซลล์ตัวแก่ได้ แต่มีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวน (proliferation) ในระยะของเซลล์ตัวอ่อนในไขกระดูกเป็นจำนวนมาก และขยายตัวออกมาในกระแสเลือดหรือเนื้อเยื่ออื่น ๆ ทำให้เกิดอาการและอาการแสดงต่าง ๆ เป็นผลให้ไขกระดูกไม่สามารถผลิตเซลล์เม็ดเลือดปกติได้ ไม่ว่าจะเป็นเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาวปกติ ตลอดจนเกล็ดเลือด ทำให้ผู้ป่วยมีอาการจากการขาดเซลล์เม็ดเลือดดังกล่าว
          อุบัติการณ์ของมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน ในประชากรทั่วไปเท่ากับ 2-3 ราย ต่อประชากร 100,000  คน ต่อปี ส่วนใหญ่พบในคนที่อายุมากกว่า 15 ปี พบเป็นร้อยละ 70-80  ของมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันในผู้ใหญ่
สาเหตุ
         1. พันธุกรรม อุบัติการณ์ของการเกิดโรคในพี่น้องของผู้ป่วยพบสูงกว่าประชากรทั่วไป 3 เท่า ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางโครโมโซมแต่กำเนิด เช่น ดาวน์ชินโดรม จะมีอุบัติการณ์ของการเกิดโรคสูงกว่าคนปกติ
          2. สารรังสี  ประชากรญี่ปุ่นที่รอดชีวิตจากการทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมา และนางาซากิ พบว่า มีอุบัติการณ์ของการเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน มากกว่าคนปกติ ถึง  30  เท่า

           3. สารเคมี ผู้ป่วยที่ได้รับสารเบนซิน จะมีอุบัติการณ์ของการเกิดโรคสูงกว่าคนทั่วไป 10 เท่า  นอกจากนี้ยาฆ่าแมลง ยาย้อมผม หรือน้ำยาสเปรย์ผม ก็พบอุบัติการณ์ของโรคสูงขึ้นด้วย
           4. ยาเคมีบำบัด ผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัดจะมีอุบัติการณ์ของการเกิดโรคสูงขึ้น
           5. บุหรี่ การศึกษาทางระบาดวิทยาพบว่า บุหรี่สามารถเพิ่มอัตราเสี่ยงการเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันได้
          อย่างไรก็ตาม ปัจจัยต่าง ๆ ข้างต้น เป็นเพียงปัจจัยเสี่ยงเท่านั้น ไม่ใช่ว่าทุกคนที่มีปัจจัยดังกล่าวจะเกิดโรคเสมอไป คงมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอีกหลายอย่าง


มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง (Chronic leukemia) 
          เกิดจากการที่ร่างกายสร้างเซลล์เม็ดเลือดที่ผิดปกติออกมาเป็นจำนวนมากกว่าเซลล์เม็ดเลือดที่ปกติ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีเซลล์เม็ดเลือดที่ผิดปกติในร่างกายเป็นจำนวนมาก โดยปกติแล้วมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง มักจะเกิดขึ้นกับผู้ใหญ่ในหลาย ๆ ช่วงอายุ
สาเหตุ
         ยังไม่ทราบแน่ชัดเช่นกัน การฉายรังสีเป็นปัจจัยเดียวที่อาจทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้เพิ่มขึ้น  ผู้ป่วยที่เคยได้รับการฉายรังสีเพื่อการรักษาโรคข้อบางชนิด และผู้ที่รอดชีวิตจากการทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรซิมาและนางาซากิ พบว่า มีอุบัติการณ์ของการเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบไมอีลอยด์ สูงกว่าคนทั่วไปมาก


อาการโดยรวมของทั้งสองชนิด
   อาการซีดและเหนื่อยง่าย เป็นอาการสำคัญที่พบบ่อยมาก เหตุจากการที่ไขกระดูกไม่สามารถสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดงได้ตามปกติ
           อาการเลือดออกง่าย มีสาเหตุมาจากเกล็ดเลือดต่ำ เนื่องจากไขกระดูกสร้างได้น้อยลง จะพบจุดเลือดออกบริเวณแขนขา เลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดาไหล ประจำเดือนออกมาก อาจมีเลือดออกในจอประสาทตา ทำให้ตามัวได้  ถ้ามีภาวะเลือดออกในสมองมักจะรุนแรงและทำให้เสียชีวิตได้

               อาการไข้ มักเป็นอาการสำคัญที่นำผู้ป่วยมาพบแพทย์ อาจจะมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ  หรือเกิดจากตัวโรคเอง
               เหงือกบวมโต (gum hypertrophy) พบได้ประมาณร้อยละ  25-50 ของผู้ป่วย
               น้ำหนักลด เป็นอาการแสดงสำคัญ พบได้ถึงร้อยละ  70  ของผู้ป่วย
               อาการปวดกระดูกหรือปวดตามข้อ ในระยะแรกมักจะพบน้อย แต่พบได้บ่อยในระยะที่โรคลุกลามไปมาก 
              อาการทางสมอง มักจะมีการดำเนินโรครุนแรงจนทำให้เสียชีวิต มีอุบัติการณ์เฉลี่ยร้อยละ 10-30 ผู้ป่วยอาจจะมีอาการปวดศีรษะ อาเจียน คอแข็ง อัมพาตของเส้นประสาท เป็นต้น