โรคฉี่หนูเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียประเภท เล็บโตสไปร่า อินเทอโรแกนส์ (Leptospira interrogans) เป็นโรคติดต่ออีกประเภทหนึ่งที่สามารถติดต่อจากสัตว์สู่คนได้ สามารถเกิดขึ้นกับสัตว์ได้หลายชนิดเช่น สุนัข หนู โค กระบือและสุกร แต่พบมากในหนู เป็นโรคที่มักจะมากับฝนและน้ำ กล่าวคือ เมื่อหนูฉี่ลงในน้ำที่ท่วมขัง แล้วเราไปย่ำลงน้ำนั้น เชื้อโรคก็สามารถแทรกซึมเข้าร่างการเราได้
อาการของโรคที่พบจะมี 2 กลุ่มคือ โรคเล็ปโตสไปโรซิสแบบไม่เหลือง (anicteric leptospirosis) และ โรคเล็ปโตสไปโรซิสรุนแรง (severe leptospirosis) โดยที่แบบแรกจะพบได้มาก มีอาการไม่รุนแรง สามารถรักษาได้ง่าย อาการของโรคจะคล้ายไข้หวัดใหญ่ คือ มีไข้หนาวสั่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน และปวดกล้ามเนื้อ อาการเหล่านี้มักจะหายไปใน 1 สัปดาห์ จากนั้นจะมีอาการภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบแบบไร้เชื้อ ม่านตาอักเสบและจอตาอักเสบ ซึ่งอาการเหล่านี้สามารถคงระยะอยู่ได้ตั้งแต่ไม่กี่วัน จนถึงเป็นปี
ส่วนกลุ่มโรคเล็ปโตสไปโรซิสรุนแรงนั้นเป็นประเภทอันตราย มีอัตราการเสียชีวิตราว 5-15% โดยที่ผู้ป่วยจะมีอาการดีซ่าน ตับโต ม้ามโต ตับวาย ไตวายเฉียบพลัน ไอ มีเสมหะปนเลือด เจ็บหน้าอก หอบเหนื่อย จนถึงระบบหายใจล้มเหลว เม็ดเลือดแดงแตก เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ตับอ่อนอักเสบรุนแรง ซึ่งสามารถเสียชีวิตได้จากอาการที่กล่าวมาข้างต้น
การป้องกันโรคฉี่หนูก็คือ ไม่สัมผัสกับน้ำท่วมขังโดยตรง ถ้าจำเป็นต้องลุยน้ำควรสวมรองเท้าบูตป้องกัน ถ้าต้องสัมผัสกับน้ำท่วมขังให้รีบอาบน้ำหรือล้างผิวด้วยน้ำสบู่ทันที มีการตรวจพบการแพร่เชื้อโดยที่หนูไปฉี่ใส่อาหารด้วย ดังนั้นควรรับประทานอาหารที่ทำสุกใหม่เท่านั้น ถ้าจำเป็นต้องเก็บอาหารไว้ก็ควรมีฝาครอบที่มิดชิด