วันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2556

โรคความดันโลหิตสูง

    

   ทุกๆคนต้องมีความดันโลหิต เพราะความดันโลหิต จะเป็นแรงผลักดัน ให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนั้นทุกคนควรจะเรียนรู้เกี่ยวกับความดันโลหิต และรักษาให้ความดันโลหิตอยู่ในเกณฑ์ปกติ เพราะความดันโลหิตสูงจะทำให้เกิดหลอดแข็งและตีบ
  เมื่อหัวใจบีบตัวหัวใจจะบีบเลือดไปยังหลอดเลือดแดง ทำให้เกิดความดันโลหิตซึ่งเกิดจากการบีบตัวของหัวใจ และแรงต้านทานของหลอดเลือด หัวใจคนเราเต้น 60-80ครั้ง ความดันก็จะเพิ่มขณะที่หัวใจบีบตัว และลดลงขณะที่หัวใจคลายตัว ความดันโลหิตของคนเราไม่เท่ากันตลอดเวลาขึ้นกับท่า ความเครียด การออกกำลังกาย การนอนหลับ ค่าปรกติของคนเราคือ 120/80 มิลิเมตรปรอท แต่ไม่ควรเกิน 140/90 หากสูงกว่านี้แสดงว่าคุณเป็นโรคความดันโลหิตสูง
  โรคความดันโลหิตสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดโรคหัวใจ โรคไต โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคอัมพาต โรคหัวใจเป็นโรคที่มีอัตราตายสูง ดังนั้นการป้องกันความดันโลหิตสูงสามารถป้องกันอัตราการตายจากโรคหัวใจ และโรคอัมพาต โรคความดันโลหิตสูงเป็นภัยเงียบที่คุกคามชีวิตของทุกท่านเนื่องจากไม่มีอาการเตือนดังนั้น การจะทราบว่าเป็นความดันโลหิตสูงจำเป็นต้องวัดความดันโลหิต

อาการของโรคความดันโลหิตสูง
   โรคความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ เนื่องจากความดันโลหิตจะเพิ่มอย่างช้าๆทำให้ร่างกายโดยเฉพาะหลอดเลือดปรับตัวทันขึงไม่มีอาการ ผู้ป่วยความดันโลหิตส่วนใหญ่จะมาด้วยโรคแทรกซ้อนโดยที่ไม่รู้ว่าเป็นความดันโลหิตสูง ดังนั้นจึงแนะนำให้วัดความดันทุก 2 ปีสำหรับคนที่ความดันโลหิตปกติ อาการที่ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่พาผู้ป่วยมาโรงพยาบาลได้แก่


ปวดศีรษะ
   ผู้ป่วยมักจะมีอาการปวดศีรษะในกรณีที่ความดันขึ้นอย่างรวดเร็วหรือเกิดภาวะ Hypertensive crisis โดยทั่วไปความดันโลหิตตัวบน Systolic จะมากกว่า 110 มม ปรอท หรือ Diastolic มากกว่า 110 มม ปรอท อาการปวดศีรษะมักจะปวดมึนๆบางคนปวดตลอดวัน ปวดมากเวลาถ่ายอุจาระ หากเป็นมากจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียน


เลือดกำเดาไหล
   ร้อยละ 17 ของผู้ป่วยที่เลือดกำเดาไหลจะเป็นความดันโลหิตสูงดังนั้นผู้ที่มีเลือดกำเดาออกต้องวัดความดันโลหิต


มึนงง Dizziness
   อาการมึนงงเป็นอาการทั่วๆไปพบได้ในหลายภาวะ เช่นเครียด นอนไม่พอ ทำงานมากไป น้ำตาลในเลือดสูง แต่ก็อาจจะพบในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยมักจะบอกว่ารู้สึกไม่แจ่มใส สมองตื้อๆ


ตามัว
ในรายที่ความดันโลหิตสูงเป็นมากและมีการเปลี่ยนแปลงของจอรับภาพผู้ป่วยก็จะมีปัญหาทางสายตา


เหนื่อยง่ายหายใจหอบ
   อาการหอบ เหนื่อยง่าย เวลาออกแรง เช่น เดิน วิ่ง ทำงาน มีสาเหตุมากมาย เช่น โลหิตจาง(ซีด) โรคอ้วน ความดันโลหิตสูง โรคปอด ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ โรคหัวใจ ภาวะหัวใจล้มเหลว (heart failure) แม้แต่ความวิตกกังวล หรือ โรคแพนิค ก็ทำให้เหนื่อยได้เช่นกัน อาการเหนื่อยง่ายจากโรคหัวใจ และ ภาวะหัวใจล้มเหลวนั้น จะเหนื่อย หอบ หายใจเร็ว โดยเป็นเวลาออกแรง แต่ในรายที่เป็นรุนแรง จะเหนื่อยในขณะพัก บางรายจะเหนื่อยมากจนนอนราบไม่ได้ (นอนแล้วจะเหนื่อย ไอ) ต้องนอนศีรษะสูงหรือ นั่งหลับ คำว่าเหนื่อย หอบ ในความหมายของแพทย์หมายถึง อัตราการหายใจมากกว่าปกติ แต่ในความหมายของผู้ป่วยอาจรวมไปถึง อาการเหนื่อยเพลีย หมดแรง เหนื่อยใจ


แน่หน้าอก
อาการต่อไปนี้เข้าได้กับอาการเจ็บหน้าอกจากโรคหัวใจขาดเลือด
  1. เจ็บแน่นๆ อึดอัด บริเวณกลางหน้าอกส่วนใหญ่จะเป็นด้านซ้าย หรือ ทั้งสองด้าน (มักจะไม่เป็นด้านขวาด้านเดียว) บางรายจะร้าวไป ที่แขนซ้าย หรือ จุกแน่นที่คอ บางรายเจ็บบริเวณกรามคล้ายเจ็บฟัน
  2. อาการตามข้อ 1 เกิดขึ้นขณะออกกำลัง หรือทำงานหนัก เช่น เดินเร็วๆ รีบ หรือ ขึ้นบันได วิ่ง โกรธโมโห โดยมากมักจะไม่เกิด 10 นาที อาการดังกล่าวจะดีขึ้นเมื่อหยุดออกกำลัง
  3. ในบางรายที่อาการรุนแรง อาการแน่นหน้าอกอาจเกิดขึ้นในขณะพัก เช่น นั่ง หรือ นอน หรือ หลังอาหาร
  4. กรณีที่เกิดหลอดเลือดหัวใจอุดตัน กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน อาการจะรุนแรงมาก อาจมีอาการอื่นๆร่วมด้วย เช่น เหงื่อออก มาก เป็นลม (อาการเช่นนี้ยังพบได้ในโรคของหลอดเลือดแดงใหญ่ปริ ฉีก) หมดสติ

เมื่อไรจึงจะเรียกว่าความดันโลหิตสูง
   เนื่องจากความดันโลหิตมีปัจจัยที่เข้ามาเกี่ยวข้องมาก การจะบอกใครเป็นความดันโลหิตสูง จะต้องมีการวัดความดันหลายครั้ง และต้องพิจารณาว่ามีโรคประจำตัวหรือไม่ คนปรกติจะมีความดันโลหิตไม่เกิน 120/80 มิลิเมตร ความดันโลหิตที่สูงกว่า 140/90 มิลิเมตรปรอทจะเรียกว่าความดันโลหิตสูง นอกจากนั้นยังมีภาวะอื่นๆ

  • คนปรกติจะมีความดันโลหิต 120/80 มิลิเมตรปรอท
  • หากความดันโลหิตตัวบนหรือ systolic มากกว่า 140 มิลิเมตรปรอท หรือความโลหิตตัวล่างเกิน 90 มิลิเมตรปรอทจะเรียกว่าความดันโลหิตสูง
  • สำหรับผู้ที่มีความดันโลหิตระหว่าง121/81-139/89 มิลิเมตรปรอทเรียก Prehypertension หมายถึงยังไม่เป็นโรคความดันโลหิตสูงแต่มีโอกาศที่จะเป็นโรคความดันโลหิตสูงในอนาคต ซึ่งจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

สาเหตุของความดันโลหิตสูง
    แม้ว่าท่านยังไม่เป็นโรคความดันโลหิตสูง แต่่มีปัจจัยเสี่ยงต่อความดันโลหิตสูง จะมีโอกาศเป็นโรคความดันโลหิตสูง สำหรับท่านที่เป็นความดันโลหิตสูง เมื่อท่านลดปัจจัยเสี่ยงของความดันโลหิตสูง ความดันของท่านก็จะลดลง

ความดันโลหิตสูงมีอยู่ 2 ชนิดได้แก่

โรคความดันโลหิตที่ไม่ทราบสาเหตุ Primary hypertension
   หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า essential hypertension เป็นความดันโลหิตสูงที่พบมากที่สุด กลุ่มนี้ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดมักจะมีสาเหตุหลายองค์ประกอบรวมกัน พบว่าผู้ป่วยร้อยละ 95 เป็นผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มนี้ แต่มักจะพบว่าผู้ป่วยกลุ่มความดันโลหิตสูงนี้มีความสัมพันธ์กับปัจจัยดังต่อไปนี้
  • การรับประทานอาหารเค็มซึ่งจากการศึกษาพบว่าการรับประทาน อาหารเค็ม จะมีส่วนทำให้เกิดความดันโลหิตสูง แนะนำว่าคนปรกติไม่ควรที่จะรับประทานเกลือเกิน 3.8 กรัมต่อวัน
  • กรรมพันธุ์ เชื่อว่าพันธุกรรมจะมีผลต่อระบบฮอร์โมนทำให้มีการหลั่งสารเคมีมากไป Renin angiotensin มากทำให้ความดันโลหิตสูง
  • ความผิดปรกติของหลอดเลือดเนื่องมาจากโรคอ้วน อายุมาก เชื้อชาติ และการขาดการออกกำลังกาย

โรคความดันโลหิตที่ทราบสาเหตุ Secondary hypertension
   เป็นความดันโลหิตสูงที่ทราบสาเหตุ พบได้ประมาณร้อยละ 5 ของผู้ป่วยความดันโลหิตสูงสาเหตุที่พบได้บ่อยคือ
  • โรคไต ผู้ป่วยที่มีหลอดแดงที่ไปเลี้ยงไตตีบทั้งสองข้างมักจะมีความดันโลหิตสูง
  • เนื้องอกที่ต่อมหมวกไตพบได้สองชนิดคือชนิดที่สร้างฮอร์โมน  hormone aldosterone ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีความดันโลหิตสูงร่วมกับเกลือแร่โปแตสเซียมในเลือดต่ำ อีกชนิดหนึ่งได้แก่เนื้องอกที่สร้างฮอร์โมน catecholamines เรียกว่าโรค Pheochromocytoma ผู้ป่วยจะมีความดันโลหิตสูงร่วมกับใจสั่น
  • โรคหลอดเลือดแดงใหญ่ตีบ Coarctation of the aorta พบได้น้อยเกิดจากหลอดเลือดแดงใหญ่ตีบบางส่วนทำให้เกิดความดันโลหิตสูง
  • ยาคุมกำเนิด
  • ยาโคเคน ยาบ้า