วันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2558

เตือน!!กิน ปักเป้าน้ำจืด ระวังอันตรายถึงชีวิต

กิน ปักเป้าน้ำจืด ระวังอันตรายถึงชีวิต




            
           มีรายงานเมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2558  ผศ.ภาสกร แสนจันแดง อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์และวิศวกรรมศาสตร์ สาขาการประมง มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขต หนองคาย เปิดเผยว่า ปลาปักเป้านั้นมีทั้งปลาน้ำจืด และปลาทะเล ซึ่งปักเป้าน้ำจืดที่พบในหนองน้ำธรรมชาติ มีทั้งหมด 8 สายพันธุ์ คือ พันธุ์ปักเป้าทอง, ปักเป้าจุดส้ม, ปักเป้าขน, ปักเป้าปากดำ, ปักเป้าเป้า, ปักเป้าท้องตาข่าย, ปักเป้าบึง และปักเป้าควาย ทุกสายพันธุ์ ล้วนมีสารพิษที่เรียกว่าซาซิโทซิน โดยจะอยู่ทั่วทุกส่วน ของตัวปลาและพิษของปลาปักเป้าไม่สามารถถูกทำลาย ด้วยความร้อนได้แม้ว่าจะปรุงให้สุกก็ตาม ซึ่งลุ่มน้ำชี และเขื่อนลำปาวจะพบปลาปักเป้าชุกชุม ส่วนในแม่น้ำโขง ก็พบปลาปักเป้าบ้างเล็กน้อย ความเชื่อของคนอีสานยังเข้าใจว่า ปลาปักเป้านั้นกินได้บางสายพันธุ์ โดยชาวบ้านที่นำปลาปักเป้ามารับประทานจนต้องนำส่งโรงพยาบาลนั้นเป็นปักเป้าเป้าและปักเป้าบึง ซึ่งความ จริงแล้วทุกสายพันธุ์ล้วนอันตรายถึงชีวิต

            ทางด้าน นพ.วิวรรธน์ ก่อวิริยกมล นายแพทย์ สสจ.หนองคาย กล่าวเพิ่มเติมว่า หากนำปลาปักเป้ามาปรุงอาหาร เป็นการเสี่ยงรับพิษโดยตรงจากตัวปลา จะเกิดอาการอาเจียนอย่างรุนแรง มีอาการชาตามลำตัว ถ้านำส่งโรงพยาบาลไม่ทันอาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ และถ้ารับประทานในปริมาณมาก อัตราการเสียชีวิตยิ่งสูงมากขึ้นไปด้วย เพราะทุกส่วนของตัวปลามีพิษที่เป็นอันตรายต่อเซลล์ประสาท พิษจะเข้าไปยับยั้งการทำงานของโซเดียม ทำลายวงจรเซลล์ประสาท ระบบสั่งการของสมองและอวัยวะควบคุมประสาทและสมองโดยตรง รุนแรงถึงขั้นหยุดหายใจได้ ความอันตรายขึ้นอยู่กับปริมาณการรับประทานด้วย หากรับประทานปลาปักเป้า 1 ขีด อัตราการตายมีมากกว่าร้อยละ 50 ดังนั้น ถ้าไม่มั่นใจว่าปลาปักเป้าไหนมีพิษ จึงควรหลีกเลี่ยงนำมารับประทานจะดีที่สุด