พบแล้วรายแรกในไทย!!! ผู้ติดเชื้อโรคเมอร์สหมอยืนยัน
วันที่ 18มิ.ย.2558 ศ.เมื่อเวลา 15.30 น.ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาและระบาดวิทยา ได้ประชุมหลังจากมีการแชร์ข้อความผ่านโลกออนไลน์ว่า ขณะนี้พบผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือโรคเมอร์ส คนแรกในประเทศไทยแล้วโดยเป็นชาวต่างชาติที่เดินทางมาจากตะวันออกกลาง และมีประวัติสัมผัสอูฐ สร้างความแตกตื่นให้กับสังคมออนไลน์มาก รวมทั้งยังแชร์ข้อความพบผู้ต้องสงสัยโรคดังกล่าว 3 รายที่จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นข้อมูลเก่าและกรมควบคุมโรค(คร.)ได้แถลงชัดว่าเป็นโรคไข้เลือดออก
นพ.โอภาสการย์กวินพงศ์ รองอธิบดี คร. กล่าวว่าระบบการเฝ้าระวังของประเทศไทยทำอย่างเข้มงวด ทำให้จะมีผู้ที่เข้าข่ายต้องสอบสวนโรคทุกวัน แต่ปัจจุบันเทคนิคการตรวจวินิจฉัยเชื้อทางห้องปฏิบัติการทำได้รวดเร็วเพียง 1 วันเท่านั้น จึงไม่มีผู้อยู่ระหว่างสอบสวนโรคค้างในระบบ อย่างไรก็ตาม จากการส่งต่อข้อความต่างๆผ่านโซเซียลว่า พบผู้ต้องสงสัยล่าสุด ขอให้รอผลการตรวจเชื้อทางห้องปฏิบัติการก่อนภายในวันที่ 18 มิถุนายนนี้
นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า สำหรับผู้ต้องสงสัยที่มีการส่งตรวจเชื้อในวันนี้ ผลเบื้องต้นโดยการเก็บเชื้อจากโพรงจมูก พบว่า ผลเป็นลบ อย่างไรก็ตาม จะมีการตรวจซ้ำอีกครั้ง เพื่อยืนยันผลอีกในช่วงเย็นวันนี้
ทั้งนี้เมื่อเวลา 17.40 น. ศ.เกียรติคุณ นายแพทย์ประเสริฐ ทองเจริญ ที่ปรึกษากรมควบคุมในฐานะประธานคณะกรรมการผู้เชียวชาญด้านไวรัสวิทยาและระบาดวิทยา กล่าวว่า จากการประชุมผู้เชี่ยวชาญ มีความเห็นว่าขณะนี้ในประเทศไทยพบผู้ป่วยติดเชื้อโรคเมอร์สในประเทศเป็นรายแรก แต่ไม่ได้ถือว่าเป็นคนไทย เพราะเป็นต่างชาติที่ติดเชื้อมาจากต่างประเทศ และมาตรวจเชื้อยืนยันในห้องปฏิบัติการในประเทศไทย ซึ่งผลทางห้องปฏิบัติการยืนยันว่าเป็นเชื้อไวรัสเมอร์ส
ต่อมาเวลา 18.30 น. วันที่ 18 มิถุนายน ที่กระทรวงสาธารณสุข ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) พร้อมด้วยทีมผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาและระบาดวิทยา อาทิ ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค รศ.นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ที่ปรึกษากรมการแพทย์ ศ.นพ.สมหวัง ด่านชัยวิจิตร ประธานศูนย์ควบคุมโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลศิริราช ศ.นพ.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าห้องปฎิบัติการไวรัสวิทยา คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผอ.ศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยไวรัสสัตว์สู่คน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมแถลงข่าวกรณีผู้ป่วยโรคเมอร์ส
ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า กรณีพบผู้ป่วยติดเชื้อทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือ โรคเมอร์ส จากการคัดกรองผู้ป่วย ล่าสุด รับผู้ป่วยชาย ชาวตะวันออกกลาง อายุ 75 ปี โดยสถาบันบำราศนราดูรรับตัวเข้ารับการรักษาเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2558 ผู้ป่วยรายนี้เดินทางมาจากตะวันออกกลาง ถึงประเทศไทย วันที่ 15 มิ.ย. 2558 เพื่อมารักษาโรคหัวใจที่รพ.เอกชนแห่งหนึ่ง ขณะเดินทางและอยู่บนเครื่องบินไม่มีอาการไข้ แต่หลังจากเดินทางถึงประเทศไทยและเข้ารับการรักษาในรพ.เอกชนทันที พบว่ามีอาหารไข้ เหนื่อย หอบ ไอ รพ.เอกชนดังกล่าว จึงแยกผู้ป่วยและญาติไปห้องแยกโรคโดยเฉพาะไม่ให้ปะปนกับผู้ป่วยรายอื่นทันที
พร้อมมีมาตรการเข้มข้นในการเฝ้าระวัง โดยเจ้าหน้าที่ที่ให้การดูแลทุกคนมีการป้องกันตัวเอง และส่งตัวอย่างเชื้อตรวจทางห้องปฏิบัติการ(แล็ป) ตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก ผลปรากฏเป็นบวก คือ ผู้ป่วยรายนี้ติดเชื้อโรคเมอร์ส และอาการไม่ดีขึ้นจึงส่งตังมารักษาต่อที่สถาบันบำราศฯ โดยเข้ารับการรักษาในห้องแยกโรคที่มีคความดันเป็นลบ และมีการส่งตัวอย่างเชื้อตรวจซ้ำเพื่อยืนยันในห้องปฏิบัติการ 2 ห้อง พบผลยืนยันเป็นบวกเช่นกัน ขณะนี้ผู้ป่วยมีอาการทรงตัว
ศ.นพ.รัชตะ กล่าวอีกว่า จากการสอบสวนโรคเบื้องต้นในวันที่ 28 มิถุนายน 2558 ได้มรการติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย จำนวน 59 คน ได้แก่ ครอบครัว 3 คน เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล 20 คน พนักงานโรงแรม 4 คน แท็กซี่ 2 คน ลูกเรือสายการบิน 2 คน ที่เหลือเป็นผู้โดยสารเครื่องบินลำเดียวกับผู้ป่วยและนั่ง 2 แถวหน้าและ 2 แถวหลังผู้ป่วย โดยในส่วนผู้ที่สัมผัสเสี่ยงสูง คือ ดูแลใกล้ชิด เช็ดตัว คือ ครอบครัวและเจ้าหน้าที่รพ.บางส่วน ได้รับตัวไว้สังเกตอาการที่สถานพยาบาลแล้ว ส่วนผู้สัมผัสใกล้ชิดคนอื่นที่มีความเสี่ยงน้อยขณะนี้มีรายชื่อและเข้าสู่ระบบติดตามแล้ว โดยให้อยู่กับบ้าน หยุดงาน และเจ้าหน้าที่จะโทรไปสอบถามติดตามอาการทุกวันอย่างน้อย 14 วันตามระยะฟักตัวของโรค และเจ้าหน้าที่ลงไปเยี่ยมบ้านทุก 1 สัปดาห์
“ประชาชนอย่าตื่นตระหนก ผู้ป่วยรายนี้ไม่ได้ติดเชื้อในประเทศไทย แต่เดินทางมาจากประเทศตะวันออกกลาง สธ.ได้ตรวจและวินิจฉัยได้เร็วเพราะมีการตรวตระมัดระวังอยู่แล้ว เช่นเดียวกับประเทศมาเลเซียและฟิลิปปินส์ที่ตรวจวินิจฉัยคนไข้ได้เร็วและสามารถควบคุมโรคไม่ให้แพร่ระบาดในวงกว้าง โดยพบเพียง 1-2 ราย ทั้งนี้ รพ.เอกชนที่ผู้ป่วยไปเข้ารับการรักษาครั้งแรกมีมาตรการเฝ้าระวังตั้งแต่ต้นสำหรับผู้ป่วยที่เดินทางมาจากตะวันออกกลางและประเทศที่โรคระบาดอยู่แล้ว จึงมั่นใจว่าจะไม่เกิดการแพร่ระบาดในรพ.เหมือนประเทศเกาหลีใต้”ศ.นพ.รัชตะกล่าว
นพ.ธนะรักษ์ ผลิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า ขณะนี้สามารถติดตามผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยได้เกือบทั้งหมดแล้ว ซึ่งในวันที่ 19 มิถุนายน 2558จะมีการสอบสวนโรคเพิ่มเติมเพื่อหาว่ายังมีผู้สัมผัสอีกหรือไม่ ทั้งนี้ จากการสอบสวนโรค ไม่พบว่า ชายชาวตะวันออกกลาง มีประวัติสัมผัสสัตว์
ด้านรศ.นพ.ทวี กล่าวว่า การพบผู้ป่วยไม่เกินความคาดหมาย ขอให้มีความมั่นใจ ฝากถึงประชาชน ว่าการเดินทางไปในประเทศที่เสี่ยง ขอให้กลับมาแล้วแจ้งให้โรงพยาบาลรับทราบทันทีเมื่อป่วยจะช่วยหยุดการะบาดของโรคได้
ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกที่จะสามารถพบเชื้อได้ในประเทศไทย ซึ่งประเทศไทยเตรียมตัวรับมือ โรคนี้มานาน รายดังกล่าวมีการติดตามตั้งแต่สนามบินถึงโรงพยาบาล ต่อมาเมื่อถึงโรงพยาบาลก็ให้เข้าห้องแยกโรคทันที และส่งตัวอย่างตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จุฬา รามาฯ เมื่อผลออกมา ก็มีการประชุมผู้เชี่ยวชาญทันที พร้อมกับย้ายผู้ป่วยมาที่สถาบันบำราศฯ รวมทั้งญาติทั้งสามรายเพื่อกักโรค ขอยืนยันว่า ไทยมีความมั่นใจ ที่จะทำให้เชื้อไม่แพร่กระจายออกสู่ชุมชน ถ้ามีกรณีที่ต้องสงสัย แล้วสามารถตรวจจับได้เร็วก็สามารถคุมโรคได้
“สำหรับประเทศไทย เหตุการณ์การแพร่ระบาดในวงกว้าง แบบเกาหลีใต้ คงไม่เกิดขึ้น เพราะโรงพยาบาลแรกที่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษามีมาตรการควบคุมตั้งแต่แรก โดยการนำผู้ป่วยเข้าห้องแยกโรคทันที ส่วนเจ้าหน้าที่ที่ให้การดูแลก็ป้องกันตัวเองทุกคน นอกจากนี้ ในสถานพยาบาลอื่นๆ แพทย์ไทยทุกคนหากพบผู้มีอากรเข้ากับโรคนี้ได้ จะซักถามประวัติ และรายงานให้ระบบการตรวจจับรับทราบทันที”ศ.นพ.ประเสริฐ กล่าว
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า คนไทยต้องตระหนัก และรับผิดชอบตัวเองในการป้องกันโรคนี้ด้วย จะรอเพียงการช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐอย่างเดียวไม่ได้ ถ้าคิดว่า เสี่ยง และมีอาการก็ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบ ทั้งนี้ การแพร่ของโรค หากมีอาการมาก ไอ จาม มาก อาการบอบช้ำมากก็จะแพร่เชื้อไปได้มาก
ศ.นพ.วสันต์ กล่าวว่า จากการที่หลายสถาบันทำการตรวจยืนยันเชื้อจากผู้ป่วยรายนี้ ในหลายช่วงเวลา พบปริมาณไวรัสน้อยมาก จนเมื่อคนไข้เข้ามาอยู่ในระบบควบคุมรักษาของรพ. จึงพบว่าปริมาณเชื้อไวรัสเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ เท่ากับระยะแพร่เชื้อที่จริงจัง เป็นช่วงเวลาที่ผู้ป่วยอยู่ในการควบคุมที่รพ.อยู่แล้ว ดังนั้น โอกาสที่แพร่ไปติดแท็กซี่จะน้อยมาก ทำให้ทราบว่าการตรวจวินิจฉัยโรคต้องตรวจจากเสมหะ
นพ.สุรเชษฐ์กล่าวว่า ไม่มีการปิดข่าว แต่ต้องรอผลการยืนยันตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก สถานการณ์เช่นนี้ จะเกิดการแพร่ระบาดของโรคหรือไม่ ขึ้นอยู่กับประชาชนทุกคนต้องมีความรับผิดชอบร่วมกัน ด้วยการทราบตนเอง เมื่อเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงโรค เมื่อเจ็บป่วยต้องแจ้ง และใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ เพื่อป้องกันโรค
รบ.มั่นใจสธ.รับมือได้ขอปชช.อย่าตื่นตระหนก
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลมั่นใจกระบวนการทำงานที่ครอบคลุมครบถ้วนของกระทรวงสาธารณสุข ว่าจะไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดได้ เพราะดำเนินการตามขั้นตอนการควบคุม และยับยั้งการแพร่ระบาดในระดับสูงสุดตามมาตรการสากล รวมทั้งให้การรักษาพยาบาลผู้ติดเชื้ออย่างดีที่สุด อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีฝากเรียนพี่น้องประชาชนว่า ไม่ควรตกใจกับเหตุการณ์นี้ แต่จำเป็นต้องใส่ใจติดตามข่าวสารและคำแนะนำของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเป็นระยะ เพื่อความปลอดภัยสูงสุด สำหรับรัฐบาลเองได้ดำเนินตรวจสอบและเฝ้าระวังอย่างเต็มที่ รวมทั้งกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติ ในกรณีเผชิญเหตุเพื่อให้สามารถรับมือได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
ขอบคุณ ข่าวจาก คม-ชัด-ลึก